วัดมิ่งเมือง วัดดังแห่งเมืองน่าน เป็นวัดที่มีลายปูนปั้นที่สวยงาม อยู่ในตัวเมืองการเดินทางมาสะดวก หากมาถึงน่านแล้วต้องมาสักการะเสาหลังเมืองน่าน เพื่อความเป็นสิริมงคล
ประวัติวัดมิ่งเมือง
วัดมิ่งเมือง อำเภอเมืองน่าน ลักษณะทางสถาปัตยกรรม ของวิหารหลังเดิม คงเป็นช่างฝีมือแบบสถาปัตยกรรมล้านนา ต่อมาภายหลังได้มีการบูรณะปรับปรุงซ่อมแซม เปลี่ยนแปลงรูปแบบ กลายเป็นสถาปัตยกรรม ที่ผสมผสานกับแนวความคิดสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดเน้น ที่เด่นชัดของวิหารวัดมิ่งเมือง ก็คือ ลวดลายศิลปะปูนปั้น ที่ประดับตกแต่งตัววิหาร มีความสวยงาม วิจิตรบรรจงมาก นับเป็นงานฝีมือของช่างปูนสมัยใหม่ในยุดปัจจุบัน
องค์พระประธาน เป็นพระพุทธรูปปั้น ลงรักปิดทองทั้งองค์ เป็นศิลปะเชียงแสนสิงห์ ๑ ซึ่งได้ทำการซ่อมแซมมาถึง ๔ ครั้งมีอายุถึง ๔๐๐ กว่าปี ซึ่งครั้งหลังสุด ช่างที่ก่อสร้างได้เพิ่มขนาดขององค์พระให้ใหญ่ขึ้น โดยมีหน้าตักกว้างขนาด ๘๐ นิ้ว มีนามว่า “หลวงพ่อพระศรีมิ่งเมือง” ที่มีพุทธลักษณะที่งดงามตามพุทธศิลป์แบบเชียงแสนสิงห์ ๑ ยุคต้นโดยเฉพาะที่ยอดพระเกตุโมฬีเป็นรูปดอกบัวตูมแกะสลักจากหินแก้วจุยเจียหรือแก้วโป่งข่าม ซึ่งเป็นหินที่เกิดขึ้นในดินแดนล้านนาเท่านั้น
ลักษณะเด่นคือ ลายปูนปั้นที่ผนังด้านนอกของพระอุโบสถ มีความสวยงามวิจิตรบรรจงมาก เป็นฝีมือตระกูลช่าง เชียงแสน มีความวิจิตรงดงามมาก ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงให้เห็นวิถีชีวิตของชาวเมืองน่าน ฝีมือช่าง ท้องถิ่นยุคปัจจุบัน และในบริเวณวัดยังเป็นที่ประดิษฐาน เสาหลักเมือง ซึ่งอยู่ในศาลาจตุรมุข ด้านหน้าพระอุโบสถ เสาหลักเมืองสูงประมาณ 3 เมตร ฐานประดับด้วยไม้แกะลวดลายลงรักปิดทอง ยอดเสาแกะสลัก เป็นรูป พรหมพักตร์มีชื่อ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
เสาหลักเมืองน่าน ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า “เสามิ่งเมือง” เดิมเป็น ไม้สักทองขนาดใหญ่ มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ ฟุต สูง ประมาณ ๓ เมตร ลักษณะเป็นเสาทรงกลมส่วนหัวเสาเกลาเป็น ดอกบัวตูมฝังไว้กับพื้นที่ดินโดยตรง ไม่มีศาลหรืออาคารครอบ แต่อย่างใด สันนิษฐานว่าอาจจะสร้างขึ้นในสมัยเจ้าอัตถวรปัญโญ เป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน เหตุเพราะแต่ก่อนมานั้นเมืองน่านไม่มีคติ การสร้างเสาหลักเมือง
แผนที่วัดมิ่งเมือง
พิกัด GPS
ละติจูด: 18.774653
ลองจิจูด: 100.766923
คลิกเปิด Google Maps